Hot Topic!

ปิดจุดอ่อน ปัญหาค่าโง่ซํ้าซาก

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 27,2019

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ - -

 

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย จ่ายค่าเสียหายแก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย)ฯ กรณีถูกยกเลิกสัญญา เป็นเงินมูลค่า 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% คืนหนังสือคํ้าประกันจากธนาคารกรุงเทพให้กับโฮปเวลล์ 500 ล้านบาท เป็นประวัติศาสตร์ค่าโง่ ในข้อพิพาทจากสัญญาสัมปทานแบบเทิร์นคีย์ให้คนไทยตกตะลึงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากรัฐเป็นฝ่ายแพ้คดีกับอีกหลายคดี เป็นค่าโง่ที่ต้องจ่ายซํ้าซาก โดยไม่ได้เกิดบทเรียนให้กับหน่วยงานราชการของไทยแต่อย่างใด ก่อนหน้านี้หน่วยราชการไทยแพ้คดีและต้องจ่ายค่าเสียหาย ตามคำสั่งศาลมามากต่อมากแล้ว อย่างคดีดอนเมืองโทลล์เวย์ คดีคลองด่าน คดีทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด สายบูรพาวิถี และฯลฯ เป็นค่าโง่ที่ต้องจ่ายอันเกิดจากสัญญาสัมปทานโครงการรัฐกับเอกชน โดยเมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นมีความเป็นไปได้น้อยมากที่รัฐจะเป็นฝ่ายชนะคดี

 

ก่อนเข้าสู่การฟ้องร้องในศาลนั้นคดีส่วนใหญ่จะผ่านการตัดสินมาจากคณะอนุญาโตตุลาการมาก่อนแล้ว เอกชนชนะคดีในอนุญาโตตุลาการก่อนแล้ว จึงมาฟ้องศาลบังคับตามคำสั่งอนุญาโตตุลาการ ซึ่งแทบทุกโครงการ ต้องมีข้อสัญญาบทอนุญาโตตุลาการตัดสินข้อพิพาท หลายคดีที่ผ่านมาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการภายใต้ข้อกำหนดแห่งสนธิสัญญาทวิภาคี เพื่อการคุ้มครองการลงทุนได้เพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก ตามสนธิสัญญาทวิภาคีได้กำหนดให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เป็นหนึ่งในกลไกระงับข้อพิพาท อันเกิดจากการลงทุน รับรองนักลงทุนผู้ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของรัฐ ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้น ผู้ฟ้องส่วนใหญ่เป็นเอกชนผู้รับสัมปทานเลือกผู้แทนคนหนึ่ง ผู้ถูกฟ้องซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจเลือกตัวแทนคนหนึ่ง และมีคนกลางอีกคนหนึ่ง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้อง โดยรายชื่อผู้ที่คัดเลือกต้องขึ้นบัญชีในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่รัฐจะเป็นฝ่ายเลือกผู้แทนผิดโดยตลอด มักไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญจริง ขาดความแม่นยำในข้อกฎหมายอย่างแท้จริงจึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้มาโดยตลอด

 

หลังจากพ่ายแพ้ในอนุญาโตตุลาการแล้ว มาสู้คดีกันต่อในศาลเพื่อบังคับตามคำสั่งอนุญาโตตุลาการ ซึ่งฝ่ายรัฐจะมีผู้แทนอัยการเข้าว่าความต่อสู้คดี บางครั้งต้องยอมรับว่าผู้แทนอัยการจะมีความเชี่ยวชาญและถนัดในคดีอาญามากกว่า คดีค่าเสียหายทางแพ่งหรือข้อพิพาทสัญญาการลงทุน จึงควรทบทวนบทเรียนการคัดเลือกอนุญาโตตุลาการใหม่ ที่ต้องเข้าใจภาษาอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากข้อสัญญาต้องแปลเป็นภาษาต่างประเทศและต้องแม่นยำในการศึกษาข้อสัญญาอย่างละเอียดรอบคอบ ด้านอัยการก็จำต้องปิดจุดอ่อนในแง่ความเชี่ยวชาญสัญญาธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาค่าโง่ซํ้าซาก

 

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3464 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 25-27 เม.ย.2562

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw